วนอุทยานเขากระโดง

เขียนโดย ยุ้ย


สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์


วนอุทยานเขากระโดง


ข้อมูลทั่วไป
วนอุทยานเขากระโดงอยู่ในท้องที่ตำบลเสม็ด ตำบลอิสานและตำบลสวายจีก อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ห่างจากอำเภอเมือง 6 กิโลเมตร บนเส้นทางสาย บุรีรัมย์-ประโคนชัย (ทางหลวงหมายเลข 219) เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและ เป็นที่ตั้งของภูเขาไฟโบราณ ซึ่งยังคงปรากฏร่องรอยปากปล่องให้เห็นได้ชัดเจน ปากปล่องภูเขาไฟมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำลึก มีน้ำขังตลอดปี ยอดสูงสุดประมาณ 265 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นที่ประดิษฐาน “พระสุภัทรบพิตร” พระพุทธรูปองค์ใหญ่คู่เมืองบุรีรัมย์และมีปรางค์กู่โบราณ ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง วนอุทยานนี้มีพันธุ์ไม้พื้นเมืองน่าศึกษาหลายชนิด การเดินทางขึ้นไปยังเขากระโดงสามารถทำได้สองวิธี คือ เดินขึ้นบันได หรือขับรถขึ้นไปถึงยอดเขาระหว่างทางจะพบพระพุทธรูปปางต่างๆ เรียงรายอยู่เป็นระยะ

การเดินทาง จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 219 บนเส้นทางสาย บุรีรัมย์-ประโคนชัย ประมาณ 6 กิโลเมตร
วนอุทยานเขากระโดงมีเนื้อที่ประมาณ 1,450 ไร่ เนื้อที่ส่วนใหญ่ของป่าเป็นที่สาธารณะสมบัติของแผ่นดิน กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2526 มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ จดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 226 (นครราชสีมา-สุรินทร์)
- ทิศใต้ จดที่สาธารณะประโยชน์ตามนสล.4130/2515 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 และนสล.ฉบับที่ 46001/2543 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2543
- ทิศตะวันออก จดบ้านโคกเขา
- ทิศตะวันตก จดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 219 (บุรีรัมย์-ประโคนชัย) ระวางแผนที่ 5638 IV พิกัดที่ทำการ (UTM) 95495E 52390 N พิกัดภูมิศาสตร์ ละติจูด 14 องศา 56 ลิปดาเหนือ และลองติจูด 103 องศา 5 ลิปดาตะวันออก

ลักษณะภูมิประเทศ
วนอุทยานเขากระโดงมีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง และเนินเขา สภาพป่าเป็นป่าแดง หรือป่าเต็งรัง มีเนินเขาขนาดเล็ก 2 ลูกติดกัน สูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ 60 เมตร เนินทาง ทิศใต้เรียกว่า เขาใหญ่ ส่วนเนินทางทิศเหนือเรียกว่า เขากระโดง ซึ่งเนินเขาทั้งสองนี้เกิดจากการทับถมของเศษหินภูเขาไฟที่พ่นปะทุออกมาทางทิศตะวันออก และตะวันตก มีลักษณะเกือบเป็นที่ราบไม่เห็นร่องรอยชัดเจน รอบ ๆ เนินเขาเป็นเนินธารลาวา ซึ่งเป็นพืดหิน จากการสำรวจความหนาของชั้นลาวาจากการระเบิดของเหมืองหิน พบว่า มีความหนามากกว่า 20 เมตร และแผ่กระจายไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของยอดเขามากกว่าทางทิศทางอื่น



ลักษณะภูมิอากาศ สภาพภูมิอากาศของป่าบริเวณเขากระโดงแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ
1.ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน
2.ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์
3.ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม

พืชพรรณและสัตว์ป่า
-ทรัพยากรป่าไม้
ลักษณะพืชพันธุ์ธรรมชาติจะเป็นพืชพันธุ์สวันนา (Savanna Biochote) เป็นหญ้าสูงและต้นไม้ขึ้นกระจัดกระจาย พืชพันธุ์ที่เกิดในเขตนี้จะเจริญเติบโตรวดเร็ว สภาพป่าเป็นป่าเต็งรัง ซึ่งป่าชนิดนี้เป็นสังคมพืชเด่นในทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยทั่วไป ป่าเต็งรังมีลักษณะเป็นป่าโปร่ง มีต้นไม้ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ไม้เด่นอันเป็นไม้ดัชนีประกอบด้วยไม้ในวงศ์ยาง ฤดูแล้งจะผลัดใบ ส่วนใหญ่ปรากฏสลับกันไปกับป่าเบญจพรรณ มักกระจายอยู่ตามสันเนิน พื้นที่ราบที่เป็นทรายจัด หรือบนดินลูกรังที่มีชั้นของลูกรังตื้น ตั้งแต่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 50-1,000 เมตร
-ทรัพยากรสัตว์ป่า
สัตว์ป่า จากการสำรวจสัตว์ป่าในวนอุทยานเขากระโดงพบว่า สัตว์ที่พบมากจะเป็นประเภทสัตว์ปีก คือ พวกนกต่างๆ ซึ่งนกส่วนใหญ่ที่พบเป็นนกประจำถิ่น เช่น นกแอ่นบ้าน นกกินปลีอกเหลือง นกเอี้ยงสาลิกา เป็นต้น ซึ่งนกจำพวกนี้สามารถพบได้ง่ายทั่วไป ในบริเวณพื้นที่วนอุทยานเขากระโดง ส่วนนกอพยพจะสามารถพบได้มากในช่วงฤดูหนาว และบริเวณที่จะสามารถพบนกได้บ่อยที่สุดคือบริเวณริมน้ำ นอกจากนกแล้วสัตว์ที่สามารถพบได้ในพื้นที่ก็จะเป็นพวกสัตว์ขนาดเล็ก พวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น กระรอกหลากสีกระรอกบินจิ๋วท้องขาว กระแตธรรมดา กระเล็น อีเห็นธรรมดา พังพอนธรรมดา กระต่ายป่า อ้นเล็ก หนูพุกเล็ก สัตว์เลื้อยคลาน เช่น เต่าเหลือง เต่านา กิ้งก่าสวน กิ้งก่าหัวแดง งูสิงธรรมดา งูเห่าปลวก งูเห่าอีสานพ่นพิษ งูหลาม งูลายสาบคอแดง งูลายสาบดอกหญ้า งูเขียวพระอินทร์


ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น
แหล่งที่มาของข้อมูล

http://www.dnp.go.th/parkreserve/asp/style2/default.asp

http://www.sadoodta.com/travel.php?subaction=showfull&id=1195635640&archive=&start_from=&ucat=25

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น