การแสดงภาคอีสาน

เขียนโดย ยุ้ย

การแสดงประจำภาคอีสาน

ฟ้อนหมากกั๊บแก้บ-ลำเพลิน
หมากกั๊บแก้บ(กรับ) เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะของภาคอีสาน มีด้วยกัน 2 ประเภท คือ1. กั๊บแก้บไม้สั้น เป็นไม้ผิวเรียบยาวประมาณ 4-6 นิ้ว2. กั๊บแก้บไม้ยาว เป็นไม้ผิวเรียบมีการหยักร่องฟันปลา เพื่อขูดกันให้เกิดเสียง

การเล่นหมากกั๊บแก้บ เป็นการเล่นที่ไม่มีรูปแบบตายตัว สุดแท้แต่ใครมีความสามารถในการแสดงออกถึงลีลาท่าทางที่โลดโผนให้เป็นที่ประทับใจของหญิงสาวได้มากน้อยเพียงใด หากเล่นกันเป็นคู่มีฝ่ายรุกฝ่ายรับ แล้วเปลี่ยนลีลาสลับกันก็ขึ้นอยู่กับโอกาสและปฏิภาณของผู้เล่น
ลำเพลิน เป็นการขับลำอีกประเภทหนึ่งของชาวอีสาน สันนิษฐานว่าการขับลำเพลินมาจากการลำทำนองตีกลองน้ำเพราะจังหวะลีลาท่วงทำนองคล้ายคลึงกันมากหมอลำเพลิน ถือกำเนิดขึ้นมาในสมัยใดไม่สามารถระบุหลักฐานได้แน่ชัด แต่ก็เป็นทำนองกลอนลำที่นิยมกันอย่างกว้างขวางทั้งในภาคอีสานและประเทศลาว ตั้งแต่ พ.ศ.2505 จนถึงปัจจุบัน บางคนก็เรียกทำนองหมอลำชนิดนี้ว่าหมอลำแก้วหน้าม้า อันเนื่องมาจาก แต่เริ่มเดิมทีนั้นหมอลำเพลินนิยมเล่นเรื่อง “แก้วหน้าม้า” เพียงอย่างเดียว ในสมัยต่อมาก็มีการเล่นเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ซึ่งชาวอีสานจะนิยมเรียกว่า “ขุนแผน-ลาวทอง” เพราะนิยมเล่นตอนนางลาวทองเขียนสาสน์ ปัจจุบัน ลำเพลินพัฒนาตนเองไปอย่างรวดเร็ว จึงนิยมนำเอาวรรณกรรมและนิทานพื้นบ้านมาใช้เล่นกันอย่างกว้างขวาง
จุดเด่นของการฟ้อนหมากกั๊บแก้บ-ลำเพลิน อยู่ที่จังหวะลีลาท่วงทำนองดนตรี ประกอบกับท่าฟ้อนของชาวอีสาน เช่น ท่าถวยแถน ท่าหมาเยี่ยว ท่าลอยปลากระเดิด ท่าเสือตะครุบ ท่าดาวน้อย ท่าลำเพลินท่าบัวหุบ-บัวบาน ท่าส่าย ท่าเนิ้ง ฯลฯ ดนตรีบรรเลงลายแมงตับเต่า และทำนองหมอลำอัศจรรย์ลายลำเพลิน

ฟ้อนสาละวัน
ลำสาละวัน
เป็นของชนชาติลาวอีกประเภทหนึ่ง การลำสาละวันที่เก่าแก่ที่กำเนิดมาจากการทรงผีไท้ผีแถน ตามความเชื่อดั้งเดิมแล้วกลายมา เป็นมหรสพของชุมชนแล้วได้ประยุกต์เพิ่มกลอนลำให้เกิดความสนุกสนาน ประกอบท่าทางการเคลื่อนไหวของร่างกายโดยอิสระตามธรรมชาติ แรกเริ่มเป็นการเล่นโดยทั่วไปในหมู่ชาวบ้านแล้วแพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทย ได้รับความนิยมมายาวนาน ด้วยท่วงทำนองที่ไพเราะ จังหวะสม่ำเสมอ
การแสดงชุด “ฟ้อนสาละวัน” คณาจารย์จากวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด เล็งเห็นคุณค่าความไพเราะของทำนองและบทร้องตลอดจนท่าฟ้อนรำที่สื่อความหมายตามแบบศิลปะพื้นบ้านที่บริสุทธิ์ รวมไปถึงความสวยงามของลวดลายที่ปรากฏบนผ้าทอของชาวสาละวัน โดยพยายามอนุรักษ์การฟ้อนแบบดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุดโดยไปศึกษาการขับลำสาละวันและท่าฟ้อนสาละวัน ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แล้วนำกลับเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยอีกครั้ง จึงได้นำฟ้อนประกอบการลำสาละวันจัดระเบียบแผนในการแสดงใหม่โดยดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบในการแสดงวงโปงลางแต่ยังคงรูปแบบไว้ดั้งเดิมเอาไว้อย่างครบถ้วน
ฟ้อนโหวด
ชุดการแสดงที่จัดทำขึ้นใหม่โดยภาควิชานาฏศิลป์ไทย โดยวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด ด้วยการนำลักษณะของช่างประดิษฐ์โหวดมาปรับปรุงเป็นท่าฟ้อทีมีความอ่อนช้อยสวยงาม สามารถสะท้อนให้เห็นถึงกรรมวิธีการประดิษฐ์โหวดได้อย่างชัดเจน โดยเริ่มจากการฝ่ายชายเข้าป่าไปหาตัดไม้กู่แคน นำมาตากแห้ง เลือกตัด ตกแต่ง ติดขี้สูดประกอบเข้ากับแกนโหวด เทียบเสียง แกว่งโหวดทดสอบ แล้วฝ่ายหญิงออก มาแสดงความร่าเริง สนุกสนาน ปิดท้ายด้วยการที่ฝ่ายชายออกมาเกี้ยวพาราสี หยอกล้อกัน
ฟ้อนโหวด ประกอบไปด้วยท่าจากท่าฟ้อนแม่บทอีสานเช่น ท่านาคเกล้าเกี้ยว ท่าอุ่นมโนราห์

ท่าบัวคว่ำบัวหงาย ฯลฯดนตรีบรรเลงด้วยวงโปงลาง ลายเค้าอ่านคอน ลายอ่านหนังสือน้อย ลายกลอนเขิน ลายพรานเดินดง และลายเมยกินโป่ง

เซิ้งบั้งไฟ
เซิ้งบั้งไฟ เป็นประเพณีและพิธีกรรมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล จากคตินิยมและความเชื่อเรื่องตำนานพญาคันคาก (คางคก) ซึ่งเป็นทั้งวรรณกรรมมุขปาฐะและวรรณกรรมจารึก อีกเรื่องหนึ่งคือ ตำนาน “ท้าวผาแดง – นางไอ่คำ” ซึ่งปราชญ์ชาวอีสานได้แต่งวรรณกรรมจากสังคมและความเป็นอยู่ของชุมชนชาวขอม เป็นเรื่องราวในทางสงครามระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ไทลาวกับกลุ่มชาติพันธุ์เขมร


ส่วนการเซิ้งบั้งไฟ ถือว่าเป็นประเพณีที่ชุมชน ชาวอีสานสืบทอดกันมาพร้อมกับประเพณีการจุดบั้งไฟ คือก่อนที่จะทำบั้งไฟเพื่อจุดถวายพญาแถนบนสวรรค์ ชาวบ้านจะรวมตัวกันออกเซิ้ง(คือ การร้องหรือจ่ายกาพย์ประกอบการฟ้อน) ไปรอบๆหมู่บ้านหรือชุมชนใกล้เคียงเพื่อบอกบุญขอรับไทยทาน เพื่อซื้อ ขี้เกีย (ดินประสิว) มาทำเป็น หมื่อ (ดินปืน) เพื่อบรรจุทำเป็นบั้งไฟ และจุดในพิธีขอฝนต่อไป
การเซิ้งบั้งไฟนั้นอาจจะเป็นผู้หญิงล้วน ชายล้วน หรือมีการสลับชายหญิงก็ได้ ท่าฟ้อนในการแห่บั้งไฟนั้นมีหลายท่า ยกตัวอย่างเช่น ท่าฟ้อนของคุ้มบ้านใต้สามัคคี อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร มีอยู่ด้วยกัน 6 ท่า คือ ท่าไหว้ครู ท่านาคพ่นน้ำ ท่าม้วนเชือก ท่าแงงคีง(ท่าชมโฉมตนเอง) ท่าส่อนฮวก(ช้อนลูกอ๊อด) และท่ายูงรำแพนท่าฟ้อนของคุ้มบ้านท่าศรีธรรม อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร มี 13 ท่า คือ ท่าไหว้ครู ท่าเกี่ยวข้าว ท่าทวยเทพ ท่าแหวกม่านเข้าหอ ท่าเอิ้นบ่าว-อีแหลวเสิ่น ท่าประแป้ง ท่าเสือขึ้นภู ท่าปอบผีฟ้า-กาตบปีก ท่าบัวหุบ-บัวบาน ท่าสามก้าว ท่างามเดือน และท่าแผลงศร
ฟ้อนมโนราห์เล่นน้ำ

เป็นการฟ้อนที่ได้ตัดตอนเนื้อหามาจากวรรณกรรมพื้นเมืองอีสาน-ล้านช้าง เรื่อง “ท้าวสีทน-มโนราห์” หรือในท้องที่ภาคกลางของไทยรู้จักในเรื่อง “พระสุธน – มโนราห์” อันเป็นเรื่องที่มีเค้ามาจากชาดกทางพระพุทธศาสนา จึงเป็นวรรณกรรมที่แพร่หลายอย่างมากทั้งในประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ฟ้อนมโนราห์เล่นน้ำ ได้เลือกเอาตอนหนึ่งมาแสดงคือ ตอนที่นางมโนราห์และพี่ทั้งหกตน ลงจากเขาไกรลาสมาเล่นน้ำในสระอโนดาต เมื่อพรานบุญผ่านมาพบเข้าเห็นเหล่านางกินรีเล่นน้ำอยู่ จึงใช้บ่วงนาคบาทจับตัวนางมโนราห์ไป พี่ๆของนางมโนราห์ไม่สามารถจะช่วยเหลืออะไรได้ จึงต้องบินกลับเขาไกรลาสไปฟ้อนมโนราห์เล่นน้ำ ได้ประดิษฐ์คิดค้นการแสดงโดย คณาจารย์จาก วิทยาลัย

นาฏศิลปร้อยเอ็ด โดยมี อ.ทองคำ ไทยกล้า เป็นผู้จัดทำนองลายดนตรี อ.ทรงศักดิ์ ประทุมศิลป์ เป็นผู้ปรับปรุงตกแต่งความกลมกลืนของท่าฟ้อนและทำนองลายเพลง อ.ฉวีวรรณ ดำเนิน(พันธุ) เป็นผู้ประดิษฐ์ท่าฟ้อนและออกแบบเครื่องแต่งกายร่วมกับ อ.จีรพล เพชรสมท่าฟ้อนที่ใช้ในการแสดงชุด ฟ้อนมโนราห์เล่นน้ำ ได้แก่ ท่ายูงรำแพน ท่าสาวประแป้ง ท่าอุ่นมโนราห์ ท่าอาบน้ำ ท่าบัวหุบบัวบาน ท่าไซร้ปีกไซร้หาง ท่าตีกลองน้ำ ท่าบินโฉบ เป็นต้นดนตรี บรรเลงด้วยวงโปงลาง ลายลำเพลินแก้วหน้าม้า


แหล่งที่มาของข้อมูล

http://www.thaidances.com/webboard/question.asp?QID=2120



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น